เปิดลำดับเหตุการณ์ คดียุบพรรคก้าวไกล ก่อนศาลรธน. วินิจฉัย 7 ส.ค.นี้
2 กุมภาพันธ์ 2564 “ณฐพร โตประยูร” อดีตที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ยื่นกกต. ยุบ “ก้าวไกล” หนุนม็อบ-แก้ ม.112
นายณฐพร โตประยูร อดีตที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ยื่นคำร้องให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) พิจารณาวินิจฉัยกรณีพรรคก้าวไกล มีการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 จากกรณีการแสดงความเห็นทางการเมือง การเข้าร่วมกับผู้ชุมนุม และการประกันตัวผู้ต้องหาในคดีชุมนุมทางการเมือง ถือเป็นการกระทำการ หรือส่งเสริม สนับสนุนให้ผู้ใดกระทำการอันเป็นการก่อกวนหรือคุกคามความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
รวมทั้งกรณีพรรคก้าวไกลยื่นร่างแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา ในฐานความผิดเกี่ยวกับการหมิ่นประมาททั้งหมด รวมถึงมาตรา 112,ร่างแก้ไข พ.ร.บ.การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560, และร่างแก้ไข พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 ตลอดจนการลงมติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับ ไอลอว์ ซึ่งการกระทำของพรรคก้าวไกล ถือเป็นการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อันเป็นความผิดตาม พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 45 และมาตรา 92 (2) (3) จึงขอให้ กกต.พิจารณาวินิจฉัย และเสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรค
10 กุมภาพันธ์ 2564 “ก้าวไกล” เสนอชุดร่างกฎหมายคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออก และสิทธิในกระบวนการยุติธรรมของประชาชน จำนวน 5 ฉบับ
พรรคก้าวไกลเสนอชุดร่างกฎหมายคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออก และสิทธิในกระบวนการยุติธรรมของประชาชน จำนวน 5 ฉบับ ประกอบด้วย 1.ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่…) พ.ศ. … โดยสาระสำคัญส่วนแรกจะเป็นการยกเลิกโทษจำคุกให้คงเหลือแต่โทษปรับ ในความผิดฐานหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นบุคคลทั่วไป รวมถึงดูหมิ่นเจ้าพนักงาน ศาล หรือผู้พิพากษา และส่วนที่สองคือย้ายความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ไปกำหนดเป็นลักษณะความผิดใหม่ คือ ลักษณะความผิดที่เกี่ยวกับพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และเกียรติยศของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เพื่อให้มีความเหมาะสม ทั้งในแง่โครงสร้างของบทบัญญัติ อัตราโทษ การยกเว้นความผิด การยกเว้นโทษ และผู้ร้องทุกข์ จึงกำหนดให้ยังมีโทษจำคุก แต่ลดอัตราโทษลงมาไม่ให้รุนแรงเกินไป ไม่กำหนดโทษขั้นต่ำไว้ รวมทั้งสามารถพิจารณาลงโทษปรับหรือทั้งจำทั้งปรับ เพื่อให้ได้สัดส่วนกับสภาพความผิด
2.ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่…) พ.ศ. … 3.ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่…) พ.ศ. … 4.ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่…) พ.ศ. … และ 5.ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา
นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล แถลงว่าพรรคมีจุดยืนในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยให้สถาบันปลอดจากคำติฉินนินทา ปลอดจากคำวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ ของสาธารณชน ซึ่งต้องดึงสถาบันให้พ้นการเมือง เรามีหน้าที่ป้องกันไม่ให้กลุ่มบุคคลเข้ามาฉกฉวยแอบอ้างความจงรักภักดีเพื่อใช้โจมตีอีกฝ่าย โดยเฉพาะการใช้กฎหมายมาตรา 112 เป็นเครื่องมือฟ้องร้องกลั่นแกล้ง ปิดปากผู้อื่น
30 พ.ค.2566 “ธีรยุทธ สุวรรณเกษตร อดีตทนายความของอดีตพระพุทธอิสระ ยื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุด ขอให้ตรวจสอบพรรคก้าวไกล กรณีที่พรรคก้าวไกลได้ดำเนินการเพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112”
นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ทนายความของอดีตพระพุทธอิสระ เข้ายื่นคำร้อง ต่ออัยการสูงสุด (อสส.) ขอให้ส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีคำวินิจฉัยสั่งการให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคฯ และพรรคก้าวไกล (ก.ก.) เลิกกระทำการใดๆ เพื่อยกเลิกหรือแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และให้เลิกการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณาและสื่อความหมายโดยวิธีอื่น เพื่อให้มีการยกเลิกหรือแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่กระทำอยู่ อย่างต่อเนื่อง จนกว่าจะสำเร็จ เข้าข่ายปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพื่อขอให้อัยการสูงสุดร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำของนายพิธาและพรรคก้าวไกล
16 มิ.ย.2566 นายธีรยุทธ สุวรรณเกษตร อดีตทนายความของอดีตพระพุทธอิสระ ยื่นคำร้องตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจารณาวินิจฉัยสั่งให้ นายพิธา และพรรคก้าวไกล เลิกการกระทำที่เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพอันอาจจะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
26 มิ.ย.2566 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติให้สอบถามอัยการสูงสุดว่ามีคำสั่งรับหรือไม่รับดำเนินการตามที่ร้องของนายธีรยุทธ สุวรรณเกษตร หากมีคำสั่งรับแล้วดำเนินการอย่างไร และผลการดำเนินการอย่างไร โดยให้แจ้งต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วัน
12 ก.ค.2566 ศาลรัฐธรรมนูญ รับคำร้องของนายธีรยุทธ สุวรรณเกษตร ดังกล่าว หลังจากที่อัยการสูงสุดมิได้ดําเนินการตามที่ร้องขอภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับคําร้องขอ กรณีเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคสาม ที่ผู้ร้องจะยื่นคําร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ พร้อมให้ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และพรรคก้าวไกล ยื่นคำชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วัน
12 ส.ค. 2566 ศาลรัฐธรรมนูญเลื่อนการพิจารณาคดีที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และ พรรคก้าวไกล ถูกกล่าวหาล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เนื่องจากอยู่ในช่วงที่มีคำสั่งขยายระยะเวลายื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาให้กับนายพิธาและ พรรคก้าวไกล
26 ก.ย. 2566 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และพรรคก้าวไกล ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา พร้อมบัญชีระบุพยานต่อศาลรัฐธรรมนูญ
15 พ.ย. 2566 – 22 พ.ย. 2566 ศาลรัฐธรรมนูญมีการประชุมพิจารณาโดยการอภิปรายในคดีดังกล่าว
22 พ.ย. 2566 ศาลรัฐธรรมนูญ นัดไต่สวนพยานบุคคล 25 ธันวาคม 2566 กรณี “พิธา-ก้าวไกล” ถูกร้องว่าล้มล้างการปกครองหรือไม่ จากการเสนอร่างกฎหมายยกเลิก ม.112
20 ธ.ค. 2566 หัวหน้าพรรคก้าวไกล เชื่อว่าการกระทำของพรรคก้าวไกลไม่เป็นความผิดตามคำร้อง ไม่กังวลยุบพรรค
นายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล เปิดเผย ว่า ฝ่ายกฎหมายได้เตรียมพร้อมและส่งเอกสารชี้แจงเพื่อประกอบการไต่สวน ในวันที่ 25 ธ.ค.นี้แล้ว ตนเชื่อว่าการกระทำของพรรคก้าวไกลไม่เป็นความผิดตามคำร้อง แต่ต้องรอและหวังว่าเมื่อไต่สวนแล้ว หากไม่มีการไต่สวนเพิ่มศาลจะนัดวินิจฉัยในช่วงปลายเดือน ม.ค. หรือต้น ก.พ. 67
“ไม่กังวลว่าจะไปถึงการยุบพรรค เพราะคดีนี้เป็นการร้องให้ยุติการรกระทำ ไม่สามารถไปไกลถึงเรื่องยุบพรรคได้ ทั้งนี้ พรรคต่อสู้เต็มที่ เพราะการเสนอร่างกฎหมายใดๆ ไม่สามารถนำไปสู่การล้มล้างการปกครองได้ เพราะกระบวนการทางนิติบัญญัติมีกรอบชัดเจนว่าไม่สามารถขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญได้” นายชัยธวัช กล่าว
25 ธ.ค. 2566 ศาลรัฐธรรมนูญ นัดไต่สวนพยานบุคคล
ศาลรัฐธรรมนูญ นัดไต่สวนพยานบุคคล โดย ศาลฯ นัดนายพิธา (หัวหน้าพรรคก้าวไกลในขณะนั้น) และนายชัยธวัช ตุลาธน (เลขาธิการพรรคก้าวไกลขณะนั้น) มาเข้ารับการไต่สวน พร้อมทั้งได้นำบันทึกคำให้การของพยานอีก 6 ปากมาประกอบการไต่สวน
ล่าสุด ศาลรัฐธรรมนูญ ได้ไต่สวนพยานทั้ง 2 ปาก คือ นายพิธา และนายชัยธวัช ซึ่งได้ตอบข้อซักถามของศาลฯ และคู่กรณี คดีเป็นอันเสร็จสิ้นการไต่สวน โดยศาลนัดแถลงการณ์ด้วยวาจา ประชุมปรึกษาหารือ และลงมติในวันที่ 31 ม.ค.67 เวลา 09.30 น. และนัดฟังคำวินิจฉัยเวลา 14.00 น. วันเดียวกัน
31 ม.ค. 2567 ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเอกฉันท์วินิจฉัย พรรคก้าวไกล เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง
ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเอกฉันท์วินิจฉัยว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล (ในขณะนั้น) และพรรคก้าวไกล เสนอแก้ไขมาตรา 112 พร้อมทั้งรณรงค์และนำไปหาเสียงเลือกตั้ง สส.เข้าข่ายล้มล้างการปกครองระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหาษัตริย์เป็นประมุข พร้อมสั่งให้ยุติการกระทำทุกอย่างเกี่ยวกับการแก้ไขมาตรา 112 รวมทั้งเตือนทุกฝ่ายอย่าละเมิดอำนาจศาล
ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ระบุว่า ข้อเสนอแก้ไขมาตรา 112 เจตนาลดทอนความคุ้มครองสถาบันกษัตริย์ลง มุ่งหมายดึงให้สถาบันกษัตริย์มาขัดแย้งกับประชาชน เจตนาแยกสถาบันกษัตริย์และชาติไทยออกจากกันซึ่งเป็นความอันตรายอย่างยิ่ง ซึ่งนายพิธาและพรรคก้าวไกลมีทัศนคติสนับสนุนยกเลิกมาตรา 112 เซาะกร่อนบ่อนทำลายระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
“ศาลรัฐธรรมนูญโดยมติเอกฉันท์ วินิจฉัยว่า การกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสองเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคหนึ่ง และสั่งการให้ผู้ถูกร้องทั้งสองเลิกการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่นเพื่อให้มีการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
นายชัยธวัช ตุลาธน สส.แบบบัญชีรายชื่อ ในฐานะหัวหน้าพรรคก้าวไกล แถลงภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ว่าการเสนอแก้ไขหรือยกเลิกมาตรา 112 รวมทั้งการนำไปใช้หาเสียงและรณรงค์ต่าง ๆ ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และพรรคก้าวไกลเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขว่า ยืนยันอีกครั้งว่าพรรคไม่ได้มีเจตนาเซาะกร่อนบ่อนทำลาย หรือแยกสถาบันพระมหากษัตริย์ออกจากชาติแต่อย่างใด
คำวินิจฉัยวันนี้อาจก่อให้เกิดปัญหาต่อดุลยภาพระหว่างประชาธิปไตยกับสถาบันในระบอบการเมืองไทยในอนาคต และยังอาจทำให้สังคมไทยสูญเสียโอกาสในการใช้ระบบรัฐสภาในการหาข้อยุติความขัดแย้งหรือความเห็นต่างกันในสังคมในอนาคต และสุดท้าย คำวินิจฉัยในวันนี้ อาจส่งผลให้ประเด็นเรื่องสถาบันกลายเป็นปมปัญหาความขัดแย้งในการเมืองไทยมากยิ่งขึ้น ส่งอาจส่งผลกระทบด้านลบต่อสถาบันเอง
1 ก.พ. 2567 “ธีรยุทธ สุวรรณเกษร”ยื่นคำร้อง กกต.ขอให้พิจารณายุบพรรคก้าวไกล
นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ในฐานะผู้ร้องศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยยุติการกระทำของพรรคก้าวไกล กรณีหาเสียงแก้ไขมาตรา 112 เข้ายื่นคำร้องต่อ สำนักงาน กกต.ขอให้พิจารณายุบพรรคก้าวไกล เช่นเดียวกับนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ที่ขอให้ กกต.พิจารณาส่งเรื่องไปศาลรัฐธรรมนูญให้มีการยุบพรรคก้าวไกลในประเด็นเดียวกัน
12 มี.ค.2567 กกต.มีมติโดยเอกฉันท์ให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสั่งยุบพรรคก้าวไกล
กกต.มีมติโดยเอกฉันท์ให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสั่งยุบพรรคก้าวไกล โดยเห็นว่า มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคก้าวไกลกระทำการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประซาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามมาตรา 92 วรรคหนึ่ง (1) และ (2) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 โดยมอบหมายให้นายทะเบียน พรรคการเมืองเป็นผู้ยื่นคำร้องและดำเนินคดีแทน กกต.
13 มี.ค.2567 หัวหน้าพรรคก้าวไกล ระบุการยุบพรรคการเมืองจะนำไปสู่การขยายความขัดแย้งทางการเมืองได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด
นายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) กล่าวถึงกรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติเอกฉันท์ส่งสำนวนคดีล้มล้างการปกครอง ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคก้าวไกลว่าบทเรียนที่สำคัญ น่าจะเป็นบทเรียนสำหรับสังคมไทยและผู้มีอำนาจมากกว่า ว่าการยุบพรรคการเมืองไม่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาทางการเมืองแต่อย่างใด ซ้ำร้ายอาจจะนำไปสู่การขยายความขัดแย้งทางการเมืองได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งสวนทางกับการคาดหวังของประชาชน หลังจากที่มีรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการรัฐประหารแล้ว
18 มี.ค.2567 มีรายงานว่า กกต. ได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ E-filing ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาสั่งยุบพรรคก้าวไกล และตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค
หลังจากที่ประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติเอกฉันท์เสนอเรื่องพร้อมความเห็นให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคก้าวไกล และตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค มีรายงานว่า นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต.ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง ได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ E-filing ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาสั่งยุบพรรคก้าวไกล และตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง จากเหตุมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคก้าวไกลกระทำการ ล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
3 เม.ย.2567 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับคำร้องของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ขอให้พิจารณาวินิจฉัยเพื่อมีคำสั่งยุบพรรคก้าวไกล
ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับคำร้องของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ขอให้พิจารณาวินิจฉัยเพื่อมีคำสั่งยุบพรรคก้าวไกล ซึ่ง กกต. โดยนายทะเบียนพรรคการเมืองยื่นคำร้องกรณีมีหลักฐานอันควรเชื่อว่าพรรคก้าวไกลมีพฤติการณ์กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเข้าลักษณะกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครอง ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อันเป็นเหตุแห่งการยุบพรรค ตาม พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (1) และ (2) ซึ่งข้อเท็จจริงปรากฏตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567
ทั้งนี้ กกต.ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคก้าวไกล เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรค และห้ามไม่ให้ไปจดทะเบียนพรรคการเมืองขึ้นใหม่หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองหรือมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ภายใน 10 ปีนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรค
ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาโดยการอภิปรายแล้วเห็นว่า กกต.มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคก้าวไกลกระทำการตาม พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (1) และ (2) ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีคำสั่งรับคำร้องนี้ไว้พิจารณาวินิจฉัยตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 7 (13) ประกอบ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 92 วรรคหนึ่ง
โดยศาลฯ จะส่งสำเนาคำร้องให้พรรคก้าวไกลยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาภายใน 15 วัน
10 เม.ย.2567 พรรคก้าวไกล เดินแผนแถลงต่อสู้คดีต่อสาธารณะด้วย ไม่ใช่แค่ยื่นต่อสู้ในศาลอย่างเดียว
นายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวภายหลังศาลรัฐธรรมนูญให้เวลา 15 วัน ในการชี้แจงข้อกล่าวหา หลังรับคำร้องจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยื่นขอยุบพรรคก้าวไกล กรณีมีหลักฐานอันควรเชื่อว่าเป็นการกระทำที่เข้าข่ายการล้มล้างการปกครองว่า ในเรื่องของการเตรียมชี้แจงแก้ข้อกล่าวหานั้น พรรคก้าวไกลได้เตรียมการมาพอสมควรก่อนหน้านี้แล้ว เมื่อได้รับเรื่องอย่างเป็นทางการจากศาลธรรมนูญแล้ว ทางฝ่ายกฎหมายของพรรค รวมถึงแกนนำพรรคที่เกี่ยวข้อง จะต้องทำเอกสารให้ดีที่สุด
“หากดูจากระยะเวลา คงเป็นช่วงหลังสงกรานต์ เราคงจะถือโอกาสนี้ในระยะเวลาใกล้เคียงกัน แถลงต่อสู้คดีต่อสาธารณะด้วย ไม่ใช่แค่ยื่นต่อสู้ในศาลอย่างเดียว” หัวหน้าพรรคก้าวไกล ระบุ
นายชัยธวัช กล่าวว่า พรรคเดินหน้าสู้คดีอย่างเต็มที่ ดังนั้นอย่าเพิ่งสรุปว่าคดีนี้ผลจะเป็นอย่างไร โดยเห็นว่ายังมีข้อโต้แย้งในทางกฎหมายอยู่ ประกอบกับข้อเท็จจริงที่จะเป็นเหตุผลในเรื่องของกฎหมายด้วย ทั้งนี้ ถึงศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 สั่งให้การกระทำที่ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าพวกเรากระทำการล้มล้างการปกครอง พร้อมสั่งยุติการกระทำนั้น และแม้ว่าจะสั่งไปแล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่า เมื่อมีการร้องให้มีการยุบพรรคตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 92 จะต้องดำเนินการตัดสิน ว่า ข้อเท็จจริงเพียงพอแล้ว และตัดสินยุบพรรคโดยอัตโนมัติ เพราะมันยังมีแง่มุมทางกฎหมาย และข้อเท็จจริงที่จะต้องต่อสู้กันอยู่ ซึ่งพรรคเห็นว่าศาลมีดุลยพินิจที่จะพิจารณา
โดยในวันเสาร์ที่ 6 เม.ย. พรรคจะมีประชุมใหญ่สามัญประจำปีของพรรค คงจะเป็นโอกาสที่จะได้พูดคุยกับสมาชิกพรรค ทั้งที่เป็น สส. และเป็นตัวแทนของสมาชิกพรรคทั่วประเทศ
17 เม.ย.2567 ประธานศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงการเปรียบเทียบคดีระหว่างพรรคก้าวไกลกับพรรคไทยรักษาชาติ ว่ายังมีข้อเท็จจริงที่แตกต่างกัน และตัวแสดงทางการเมือง หรือตัวแสดงในคดี ก็ไม่ใช่ตัวแสดงเดียวกัน
ประธานศาลรัฐธรรมนูญ เผยอาจขยายเวลาให้พรรคก้าวไกลในการส่งเอกสารชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่เสนอให้วินิจฉัยยุบพรรคและตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคออกไปอีก 15 วันนับตั้งแต่วันที่ 17 เม.ย.67 หลังครบกำหนดเวลา 15 วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับคำร้องไว้วินิจฉัย ซึ่งจะทำให้ไม่สามารถมีคำวินิจฉัยในคดีดังกล่าวได้ภายในเดือน เม.ย.นี้
นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงกระแสข่าวเกี่ยวกับคำวินิจฉัยที่ออกมานั้นเป็นที่คาดเดา และเป็นการพิจารณาจากข้อกฎหมายคนละมาตรา หากเปรียบเทียบคดีระหว่างพรรคก้าวไกลกับพรรคไทยรักษาชาติ โดยเฉพาะโทษทางการเมืองนั้นก็ยังมีข้อเท็จจริงที่แตกต่างกัน และตัวแสดงทางการเมือง หรือตัวแสดงในคดี ก็ไม่ใช่ตัวแสดงเดียวกัน
ประธานศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า กรณีที่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญถูกสังคมและนักวิชาการวิพากษ์วิจารณ์ถือเป็นสิ่งที่น่ายินดี แต่วิจารณ์แล้วทำให้บ้านเมืองสงบ เป็นที่ยอมรับ บ้านเมืองเดินหน้าต่อไปได้หรือไม่ ปัญหาไม่ได้ขึ้นอยู่กับการวิพากษ์วิจารณ์ เพราะตนก็ยอมรับคำวิพากษ์วิจารณ์นั้นอย่างเต็มที่ แต่จะต้องเป็นไปโดยสุจริต และไม่เป็นการดูถูกเหยียดหยามองค์กรตุลาการ อย่าใช้คำหยาบคาย เพราะจะมีโทษตามกฎหมาย
ส่วนแรงกระแทกจากสังคมกลับมายังศาลรัฐธรรมนูญนั้นเป็นสิ่งที่สามารถเข้าใจได้ และแสดงให้เห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญเป็นที่ยอมรับ เพราะข้อขัดแย้งทางการเมืองไม่ได้ลดลง หากพรรคการเมืองสามารถตกลง เจรจากันได้ในสภา คดีก็จะไม่มาถึงศาล แต่เมื่อสภาตัดสินใจยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา จึงแสดงให้เห็นว่า ศาลเป็นที่พึ่ง และศาลพร้อมรับฟังข้อโต้แย้งของทั้ง 2 ฝ่าย และพิจารณาตามข้อกฎหมาย แล้วจึงตัดสินใจ ขอยืนยันว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไม่มีธงในการตัดสินและการวินิจฉัยคดี ที่จะชี้ขาดได้เพียงซ้ายหรือขวา ชอบหรือไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญเท่านั้น แตกต่างจากการเขียนคำตอบเชิงวิชาการ ที่คำตอบสามารถออกมาได้หลายมุม ทำให้สังคมมองว่าศาลฯ มีธง ทั้งที่ตุลาการก็มีการถกเถียงกันมากพอสมควร
17 เม.ย.-15พ.ค.2567 ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลาตามที่พรรคก้าวไกลขอรวม 3 ครั้ง ครั้งละ 15 วัน รวมขยายเวลา 45 วัน ตามที่พรรคก้าวไกลขอขยายเวลายื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อศาลรัฐธรรมนูญ กรณี กกต. ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย เพื่อมีคำสั่งยุบพรรคก้าวไกล กรณีอันควรเชื่อว่า พรรคก้าวไกล (ผู้ถูกร้อง) มีพฤติการณ์กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเข้าลักษณะกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
4 มิ.ย. 2567 พรรคก้าวไกลยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อศาลรัฐธรรมนูญ โดยศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหารวมไว้ในสำนวน ส่งสำเนาคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาให้ กกต.ในฐานะผู้ร้องทราบ และกำหนดนัดพิจารณาต่อไปในวันที่ 12 มิ.ย. และวันที่ 18 มิ.ย.
6 มิ.ย. 2567 พรรคก้าวไกล เตรียมรายชื่อพยานบุคคลที่ เป็นรายชื่อใหม่ หวังศาลฯ จะให้โอกาสในการเปิดไต่สวน
นายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวถึงการต่อสู้คดียุบพรรคว่า หลังจากที่พรรคก้าวไกล ได้ยื่นคำชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อแก้ข้อกล่าวหาไปแล้ว ต้องขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 12 มิ.ย.นี้ว่า จะสั่งให้มีการเปิดไต่สวนพยานหรือไม่ ซึ่งในส่วนของพรรคก้าวไกล ได้เตรียมรายชื่อพยานบุคคลไว้แล้ว เป็นรายชื่อใหม่ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นที่พรรคจะต่อสู้โดยเฉพาะ ดังนั้น จึงหวังว่าศาลฯ จะให้โอกาสในการเปิดไต่สวน
“หวังว่าศาลจะให้โอกาสในการที่จะไต่สวนและพิจารณาข้อเท็จจริงกันใหม่อย่างเต็มที่ ส่วนจะใช้เวลานานในการไต่สวนหรือไม่ขึ้น อยู่กับดุลยพินิจของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งในวันพุธที่ 12 มิ.ย.ก็จะทราบว่าศาลจะดำเนินการต่ออย่างไร จริง ๆ แล้วการที่จะเปิดไต่สวนหรือไม่ หรือเรียกพยานเพิ่มเติมกี่คน ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาลทั้งหมด ไม่ได้เกี่ยวกับพรรคก้าวไกลจะยื่นพยานไปกี่คน” นายชัยธวัช กล่าว
พร้อมยืนยันว่า ในวันที่ 9 มิ.ย.นี้ พรรคก้าวไกลจะยังคงจัดแถลงถึงแนวทางการต่อสู้คดียุบพรรคตามเดิมที่ได้กำหนดไว้ แม้ศาลรัฐธรรมนูญ จะเตือนไม่ให้พรรคแสดงความเห็นหรือชี้นำสังคมในคดีดังกล่าว โดยนายชัยธวัช มองว่า เป็นเพียงแค่การแถลงว่าพรรคก้าวไกลได้ต่อสู้ในประเด็นไหน อย่างไรบ้าง ซึ่งไม่ได้มีอะไรใหม่มากกว่าที่อยู่ในคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาอยู่แล้ว
9 ก.ค.2567 พรรคก้าวไกล ยื่นบันทึกถ้อยคำ “สุรพล นิติไกรพจน์” ในฐานะพยาน
พรรคก้าวไกลซึ่งได้เคยยื่นพยานบุคคลทั้งหมด 10 ปาก และได้ยื่นบันทึกถ้อยคำเพิ่มอีก 1 ปากคือ นายสุรพล นิติไกรพจน์ ซึ่งเป็นศาสตราจารย์ทางด้านกฎหมายมหาชน และที่ปรึกษาด้านกฎหมายของ กกต.ด้วย โดยเอกสารดังกล่าวมีจำนวน 19 หน้า แบ่งเป็นความเห็นต่อคำร้องของกกต. 3 ประเด็น และอีก 1 ประเด็นเป็นความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญ
โดย 3 ความเห็นต่อคำร้องของ กกต. ประเด็นแรก เรื่องคำร้องยุบพรรคก้าวไกลของ กกต. ศ.สุรพล ระบุว่า มติเสนอคำร้องยุบพรรคก้าวไกลของ กกต. ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะไม่ทำตามกระบวนการขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด
ส่วนประเด็นการกระทำของพรรคก้าวไกลเป็นการล้มล้างการปกครองฯ หรือ อาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ศ.สุรพล ให้ความเห็นว่า มีหลายการกระทำที่ไม่ใช่การกระทำของพรรค เช่น การเข้าชื่อแก้กฎหมายม.112 สส. เพียงใช้อำนาจนิติบัญญัติ เพื่อให้รัฐสภา พิจารณาแก้ไขกฎหมายเท่านั้น ซึ่งเป็นแนวทางตามของรัฐธรรมนูญ
ขณะที่การเสนอนโยบายหาเสียงแก้ม.112 ก็เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองอย่างประนีประนอม ยิ่งไปกว่านั้น กกต. เคยยกคำร้องกรณีเสนอนโยบายหาเสียงแก้ม.112 ไปแล้ว และไม่เคยมีคำสั่งให้พรรคก้าวไกล แก้ไข เปลี่ยนแปลง สั่งห้าม การเสนอนโยบายหาเสียงแก้ม.112
กรณีสส.พรรคก้าวไกล แสดงออกผ่านการรณรงค์ และปรากฎตัวในที่ชุมนุม ก็ไม่ใช่การกระทำของพรรคก้าวไกล แต่เป็นการใช้เสรีภาพส่วนบุคคล ไม่ขัดแย้งต่อกฎหมาย และกรณีที่เป็นนายประกันให้ผู้ต้องหาม.112 ไม่ได้หมายความว่าจะเห็นด้วย หรือ สนับสนุนการกระทำของผู้ต้องหา หรือการเป็นผู้ต้องหาในคดี ม.112 ก็เป็นสิ่งที่ผู้ถูกกล่าวหาต้องรับผิดชอบ ไม่ใช่พรรคการเมืองที่สังกัดต้องรับผิดชอบ
และประเด็นศาลรัฐธรรมนูญควรพิจารณายุบพรรคก้าวไกลหรือไม่ ศ.สุรพล ให้ความเห็นว่า การใช้มาตรการยุบพรรคต้องใช้อย่างระมัดระวัง ไม่เช่นนั้นอาจนำไปสู่การทำลายระบอบประชาธิปไตย อาจส่งผลร้ายในอนาคต ทำลายดุลยภาพทางการเมืองระหว่างฝ่ายค้าน และรัฐบาล อาจนำไปสู่ระบบเผด็จการรัฐสภา
เพราะฉะนั้น การยุบพรรคการเมือง ต้องถูกใช้ในกรณีที่มีการแสดงออกชัดเจนว่า ต้องการเปลี่ยนแปลงด้วยความรุนแรง และมีเหตุผลอย่างหนักแน่นว่า ไม่มีทางอื่นนอกจากการยุบพรรค แต่การกระทำของพรรคก้าวไกล เป็นการใช้อำนาจ หน้าที่ สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ เป็นวิสัยปกติ อยู่ในวีถีรัฐธรรมนูญ จึงไม่เป็นเหตุแห่งการยุบพรรค
นอกจากนี้ ศ.สุรพล ยังเสนอความคิดเห็นเพิ่มเติมต่อตุลาการศาลรัฐธรรมนูญด้วยว่า การพยายามแก้ไขปัญหาทางการเมืองที่ซับซ้อน ด้วยการยุบพรรคการเมืองที่เป็นปฏิปักษ์ถูกใช้มาแล้วหลายครั้ง แต่ไม่เคยทำให้เกิดทางออกที่จะช่วยคลี่คลายวิกฤตทางการเมือง แต่กลับสร้างความโกรธแค้นชิงชังทางการเมือง ยิ่งทำให้สถานการณ์ทางการเมืองที่เลวร้ายอยู่แล้ว ทวีความรุนแรงขึ้น
17 ก.ค.2567 : ศาลรัฐธรรมนูญ นัดฟังคำวินิจฉัยคดียุบพรรคก้าวไกล วันที่ 7 ส.ค.นี้ ระบุมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ จึงยุติการไต่สวน
ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาคำร้องของคณะกรรมการการเลือกตั้ง โดยนายทะเบียนพรรคการเมืองยื่นคำร้องกรณีมีหลักฐานอันควรเชื่อว่าพรรคก้าวไกล (ผู้ถูกร้อง) มีพฤติการณ์กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเข้าลักษณะกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อันเป็นเหตุแห่งการยุบพรรคผู้ถูกร้องตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (1) และ (2)
ซึ่งข้อเท็จจริงปรากฏตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 จึงขอให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคผู้ถูกร้องเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของบุคคลผู้เป็นคณะกรรมการบริหารพรรคผู้ถูกร้อง และห้ามมิให้ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งคณะกรรมการบริหารพรรคผู้ถูกร้องและถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งไปจดทะเบียนพรรคการเมืองขึ้นใหม่หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองหรือมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่ภายในกำหนดสิบปีนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคผู้ถูกร้อง ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 92 วรรคสอง และมาตรา 94 วรรคสอง
ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาปรึกษาหารือแล้วเห็นว่า คดีเป็นปัญหาข้อกฎหมายและมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ จึงยุติการไต่สวนตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 58 วรรคหนึ่ง หากคู่กรณีประสงค์จะแถลงการณ์ปิดคดีให้ยื่นเป็นหนังสือต่อศาลรัฐธรรมนูญตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 67 ประกอบข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2562 ข้อ 24 ภายใน วันพุธที่ 24 ก.ค.2567
ส่วนคำร้องที่คู่กรณียื่นให้รับรวมไว้ในสำนวนคดีเพื่อประกอบการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญต่อไป
ศาลรัฐธรรมนูญกำหนดนัดแถลงด้วยวาจา ประชุมปรึกษาหารือ และลงมติในวันพุธที่ 7 ส.ค.2567 เวลา 15.00 น. นัดฟังคำวินิจฉัยเวลา 15.30 น. เป็นต้นไป ณ ห้องพิจารณาคดี ชั้น 3 ศาลรัฐธรรมนูญ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ อาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์
2 ส.ค.2567 พรรคก้าวไกล แถลงปิดคดียุบพรรคย้ำถึง 9 ข้อต่อสู้ ทั้งในแง่ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย
ประกอบด้วย 1.ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย 2.การยื่นคำร้องนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย 3.คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 ไม่มีผลผูกพันในการพิจารณาวินิจฉัยคดีนี้ 4.นอกจากการเสนอนโยบายแก้ไขกฎหมายประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แล้ว การกระทำอื่นตามคำร้องมิได้เป็นการกระทำของพรรคก้าวไกล 5.การกระทำตามที่ กกต.กล่าวหา มิได้เป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเป็นการกระทำอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 6.ศาลรัฐธรรมนูญไม่ควรยุบพรรคก้าวไกล 7.แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำสั่งยุบพรรค ก็ไม่มีอำนาจกำหนดระยะเวลาการเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรค 8.การกำหนดระยะเวลาเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคต้องพอสมควรแก่เหตุ และ 9.การเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งต้องเพิกถอนเฉพาะของกรรมการบริหารพรรคที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิด